top of page
ค้นหา

การวางผังบ้าน

"การวางผัง" คือ การหาตำแหน่งบ้านและตำแหน่งของเสาเข็ม ลงบนที่ดินในแปลงที่จะปลูกสร้าง

โดยตำแหน่งบ้านนั้น เจ้าของบ้านได้ตกลงกับผู้ออกแบบไว้แต่แรกแล้วว่าจะสร้างบ้านตรงไหนของที่ดิน

.

ซึ่งตัวบ้านจะวางตำแหน่งผิดหรือถูก ? จะเบี้ยว ?หรือจะได้ฉาก ? เสาเข็มจะเยื้องศูนย์หรือไม่ ?

อยู่ที่ "ขั้นตอนการวางผัง" และหลายครั้งที่บ้านบิดเบี้ยว ไม่ได้ฉาก มารู้ตัวอีกที ก็ตอนงานหลังคา

งานผนัง หรือปูกระเบื้องพื้น ซึ่งกลับไปแก้ไม่ได้แล้ว ...

.

วันนี้ผมเลยอยากมาแชร์ "ขั้นตอนการวางผัง"โดยสรุปให้ "เป็นขั้นเป็นตอน" เข้าใจง่าย ๆ

#ป้องกันความผิดพลาด#ประหยัดต้นทุนเผื่อเป็นประโยชน์ เพื่อน ๆ นำไปปรับใช้กันนะครับ

ผู้รับเหมาและเจ้าของบ้าน ต้องตรวจสอบตำแหน่งบ้านและตำแหน่งเสาเข็ม และหารือกันว่าจะวางผัง

ตามตำแหน่งที่ปรากฏไว้ในแบบก่อสร้างหรือไม่ ?หรือ อาจจะมีการขยับไป ซ้าย ขวา หน้า หลัง ?

อันนี้ขึ้นอยู่ที่ความต้องการของเจ้าของบ้าน และต้องดูข้อกฎหมายโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับระยะร่นด้วย

.

หมายเหตุ :

● ผมขอยกตัวอย่างเป็นบ้านง่าย ๆ มีเสาอยู่4 ต้น และระยะต่าง ๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อเพื่อน ๆ

ได้เห็นภาพ และเข้าใจง่ายที่สุด เท่านั้นครับ


การวางผังที่นิยมทำกัน มีอยู่ 2 แบบ คือ

1) การวางผังโดยใช้กล้องสำรวจ Survey

2) การวางผังเองโดยใช้สูตร 3-4-5

ซึ่งผมจะอธิบายแบบสูตร 3-4-5 เป็นหลัก เนื่องจากโครงการทั่วไปจะเป็นขนาดเล็กและประหยัดต้นทุน

.

ก่อนอื่นเราทำความรู้จักสูตร 3-4-5 กันก่อน... โดยสูตรนี้จริงแล้ว มาจากทฤษฎีของ "พีทาโกรัส"

ที่ไว้หาฉากในงานก่อสร้าง ตั้งแต่สมัย 2,000 ปีก่อน ซึ่งผมจะไม่ขอลงลึก แต่จะอธิบายที่ใช้กันง่าย ๆ

จากสูตร C = √(A² + B²)

*C = สแควรูท ((A ยกกำลัง 2) + (B ยกกำลัง 2))

หมายความว่าถ้าเราเอาค่า A ยาวด้านหนึ่ง กับ ค่า B ยาวด้านหนึ่ง ที่ตั้งฉากกัน แล้วไปแทนสูตร

ก็จะได้ค่า C ที่เป็นความยาวเส้นแทยงมุม อยู่ตรงข้ามมุมฉาก (90 องศา) นี้ออกมา ดังในรูป

.

ทีนี้มันมีค่า A = 3 และ B = 4 ที่ดันเอามาแทนสูตรแล้ว ได้ C = 5 จึงเรียกติดปากกันในวงการ

ก่อสร้างว่า "สูตร 3-4-5" โดยเฉพาะการสร้างบ้านเป็นที่นิยมใช้ตัวเลขนี้ เพราะเป็นขนาดที่ใช้กับระยะ

บ้านขนาดทั่วไปได้ดี แล้วยังจำได้ง่าย

.

หมายเหตุ :

ผมเสริมตารางสรุปเป็นอัตราส่วนให้ เอาไว้ใช้กรณีที่ต้องการหาฉากในพื้นที่ใหญ่ขึ้น ก็ต้องรู้จักใช้สเกล

ให้เหมาะสม เช่น ถ้าพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ใช้สเกลที่เล็กไป ก็จะทำให้ฉากบ้านนั้นคลาดเคลื่อนสูง เป็นต้น


● ไม้ผัง (ไม้หน้าสาม)

● ตะปู ค้อน เส้นเอ็น ลูกดิ่ง

● สายยางวัดระดับน้ำ

● ไม้หมุดตำแหน่งเสาเข็ม (ไม้ 1"x1")

● เชือกแดง และสเปร์พ่นหมุด

.

หมายเหตุ :

● อุปกรณ์วางผัง เราจะใช้ "ไม้ผัง" เพื่อทำเป็นกรอบคร่าว ๆ และดึง "เส้นเอ็น" เพื่อหาตำแหน่ง แล้วทำการปักหมุดโดยใช้ "ไม้หมุด" กำหนดจุดที่ต้องการ


เป็นการตรวจสอบอีกครั้งว่าหมุดหลักเขตที่ดินที่จะวางผัง อยู่ในตำแหน่งถูกต้อง หรือสูญหาย

หรือไม่ ได้วางผังอย่างมั่นใจ และป้องกันปัญหาทางด้านกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ ...


เป็นการ "เริ่มต้นวางผัง" เพื่อหาแนวศูนย์กลางของเสาเข็มในแนวแรก โดยแนวนี้จะเรียกว่า

"แนวอ้างอิงแกน X" หรือ "แนวแกนนอน"โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากแนวด้านหน้าบ้านให้

"ขนานกับถนน" เพื่อให้บ้านดูตรง สวยงามรับกับแนวถนน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะตามที่แบบกำหนดไว้

.

หมายเหตุ :

● การปักไม้เสาผัง ต้องเว้นระยะให้ยาวกว่าตัวบ้านโดยต้องเผื่อระยะการขุดดิน และวางแบบหล่อ

โครงสร้างฐานรากตามความเหมาะสม รวมถึงระยะการกองดินด้วย เพื่อไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน

● การวางผัง จะใชไม้ปักลงไป เรียกว่า "ไม้ผัง"โดยไม้ผังทั่วไปจะใช้ไม้ขนาด 1.5 x 3 นิ้ว หรือ

"ไม้หน้าสาม" ไม้ที่ใช้ต้องเรียบตรง ไม่โก่งหรือคดงอมากเกินไป เริ่มจากเตรียมไว้ 2 ชุด เพื่อที่

จะปักคร่อมแนวเสาด้านหัวและด้านท้าย แล้วตอกตะปูบนหลังไม้ผัง เพื่อขึงเส้นเอ็นให้เป็นเส้นแนว


(TIP & TRICK)

● การปักไม้เสาผัง ควรเซ็ตระดับความสูงอ้างอิงที่หลังไม้ผังไว้ทีเดียวเลย เช่น +1.00 เมตร

จากระดับ 0.00 โดยปกติแล้ว เรามักจะใช้ระดับดินถมที่ขึ้นมาในที่ดินของเราให้เป็นระดับ 0.00

ที่สำคัญต้องอนุมัติร่วมกันกับเจ้าของบ้านและผู้เกี่ยวข้องด้วย เพราะระดับงานก่อสร้างต่าง ๆ

จะสูงหรือต่ำเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับระดับ 0.00 นี้


วางผังหลักสำหรับแนวอ้างอิงแกน Y หลังจากหาแนวอ้างอิงแกนนอนด้านหน้าบ้านเสร็จ ก็เป็น

การวางผังหลักในแนวแกน Y หรือ "แนวตั้งฉาก" บางคนอาจเรียกว่าแนวนี้ว่า "แนวปรับฉาก" โดย

การใช้ไม้ผังทำเช่นเดียวกับแนวอ้างอิงแกน X และมาถึงขั้นตอนสำคัญ คือ หาฉากด้วยสูตร 3-4-5

หลังจากนั้น เราก็จะได้กริดไลน์ (Grid-Line) ที่เป็นจุดตัดในการปักหมุดหาจุดศูนย์กลางเสาเข็มต้นแรก

.

#ตัวอย่างการหาฉากที่หน้างาน ด้วยสูตร 3-4-5 เริ่มจากกริดไลน์จุดแรกให้วัดออกไปในแนวแกน

"X = 3 เมตร" แล้วเอาเทปพันมาร์คตำแหน่งไว้ หลังจากนั้นมาวัดในแนวแกน "Y = 4 เมตร" แล้ว

เอาเทปพันไว้ เสร็จแล้วให้วัดทแยงจากตำแหน่ง ที่เทปพันมาร์คไว้ทั้ง 2 จุด โดยผลลัพธ์ความยาว

ของเส้นทแยงนี้จะต้องได้ "5 เมตรเท่านั้น" ถึงจะ"ได้ฉาก" ซึ่งถ้าวัดแล้วไม่ได้ 5 เมตร แสดงว่ายัง

ไม่ได้ฉาก จะต้องพยายามปรับจนได้ฉาก โดยขยับการตอกตะปูที่บนผังหลักแกน Y แล้วดึงเส้นเอ็นใหม่

ปรับจนแนวเส้นทแยงได้ระยะ 5 เมตร เป็นอันจบ ...

.

หมายเหตุ :

● กริดไลน์ (Grid-Line) คือ การแสดงข้อมูลเป็น"ตารางเส้นกริด" บนแบบแปลน เป็นจุดตัดที่ผ่าน

ศูนย์กลางเสาเข็มทั้งแนวตั้งและแนวนอน ทั่วไป กริดเสาแนวหนึ่งจะใช้ "ตัวอักษรภาษาอังกฤษ"

และอีกแนวจะใช้ "ตัวเลข" อยู่ในวงกลม เช่น ...เสาต้นหนึ่งตั้งอยู่ บนกริดเสาแนวตั้งเป็นตัวอักษร

A และกริดเสา แนวนอนเป็นเลข 2 หมายความว่า เสาต้นนี้จะมี ชื่อกริดเสาว่า A-2 เป็นต้น

● ไม้เสาผังหลักสำหรับเป็นแนวอ้างอิงเริ่มต้นนี้ เป็นสิ่งสำคัญ ต้องรักษาไว้ตลอด เพราะใช้อ้างอิง

จนถึงอย่างน้อยก็งานเสาบ้านเสร็จ เพราะถ้าส่วนนี้ หายไป จะทำให้การหาตำแหน่งอ้างอิงเดิมได้ยาก

ตำแหน่งเสาต่าง ๆ ผิดพลาดได้ง่าย


หลังจากได้แนวอ้างอิงหลักแนวแกน X และแกน Y นี้เรียบร้อย ก็สามารถวางผังในแนวอื่น ๆ ที่เหลือ

ได้แล้ว โดย "วัดระยะ Grid-Line ตามแบบ" หรือ จะใช้สูตร 3-4-5 ตรวจสอบควบคู่ไปด้วยก็ได้

.

หมายเหตุ : การใช้เทปวัดระยะต่าง ๆ

● ควรใช้เทปวัดเหล็ก ไม่ควรใช้เทปวัดที่ทำด้วยพลาสติก และดึงให้ตึงแรงเท่า ๆ กันมากที่สุด

● ความสูงเวลาดึงเทป ต้องเท่ากันทุกครั้ง ไม่เอียงขึ้นลงเกินไป ทำให้ระยะคลาดเคลื่อนมากได้


หลังจากขึงเอ็นไขว้เพื่อหาแนวผังครบแล้วก็ทำการหาตำแหน่งศูนย์กลางเสาเข็ม โดยใช้ลูกดิ่ง

ดิ่งลงมาที่พื้นดิน เพื่อทำการปักหมุดให้ครบทุดจุด

.

หมายเหตุ :

● หมุดที่จะใช้ปัก เพื่อแสดงตำแหน่งศูนย์กลางเสาเข็ม ปกติจะใช้ไม้ขนาด 1 x 1 นิ้ว หรือ 1 x 2 นิ้ว

แต่ควรยาวไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร และตอกตะปูที่หัวของหมุด พร้อมเชือกพลาสติกสีแดง แล้วอาจจะพ่นสีแดงเพิ่มด้วยก็ได้ เพื่อให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น



 
 
 

Comments


bottom of page